พุยพุย

การดูแลสุขภาพ


                          การดูแลสุขภาพ

           ทุกคน ทุกวัยควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และสร้างภูมิคุมกันโรค ด้วยการรักษาความสะอาดในร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์หรือให้ครบห้าหมู่ ออกกำลังกายเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามลดความเครียด ลดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ถ้าทุกท่านปฏิบัติได้ตามนี้จะปลอดภัยจากโรคภัยต่างๆ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงตลอดไป
         สุขภาพผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุ หมายถึงผู้ที่อยู่ในวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่
- ผู้สูงอายุตอนต้น ระหว่างอายุ 60-75 ปี ส่วนใหญ่จะยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ชัดเจน
- ผู้สูงอายุตอนปลาย ตั้งแต่อายุ 70 ปีขึ้นไป จะเห็นความเสื่อมของร่างกายชัดมากขึ้น
         การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ลักษณะภายนอก ผมบางและเปลี่ยนเป็นผมสีขาว ผิวหน้าเหี่ยวย่น หรือมีตกกระทั่วไปทรวดทรงของร่างกายมักเปลี่ยนไป
         ระบบต่างๆของร่างกาย
-ทางเดินอาหาร เริ่มตั้งแต่ในปาก ลิ้นรับรสอาหารได้น้อยลง การเคี้ยวอาหารจะไม่ละเอียด ระบบย่อยและขับถ่ายเสื่อมลง
-กล้ามเนื้อ ข้อและกระดูก มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนแรง เจ็บปวดบริเวณข้อ เนื่องจากโรคกระดูกเสื่อม หรือกระดูกบาง
-หลอดเลือด และหัวใจ มักเกิดการแข็งตัวของหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง และหัวใจขาดเลือด
-สมอง จำได้แต่เรื่องในอดีต มักหลงลืมเรื่องใหม่ๆ
-ระบบปัสสาวะ กลั้นไม่ค่อยได้ เป็นอุปสรรคในการเดินทาง
-ตาและหูเสื่อมลง ทำให้เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่ว

         การเปลี่ยนแปลงจิตใจ อารมณ์และสังคม
เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆทางร่างกายซึ่งเสื่อมลงตามวัยที่มากขึ้น เมื่อถึงระยะหนึ่งที่สภาพทางร่างกายไม่อำนวยให้เข่าร่วมกิจกรรมทางสังคมได้จะเริ่มรู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล เหงาหงอย เศร้าใจ มีความรู้สึกว่าตนมีคุณค่าน้อยลง
         ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลง
- สุขภาพทางกายและจิต ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคทางกาย มีสุขภาพจิตดี ร่าเริง จะเป็นผู้ที่ไม่ค่อยแก่
- ความสนใจใฝ่รู้เรื่องรอบๆตัว นอกจากจะเป็นการฝีกสมองอยู่เสมอแล้ว ยังทำให้เป็นผู้ทันเหตุการณ์ไม่สนใจอยู่แต่อดีต
- สถานภาพทางเศรษฐกิจ ที่พอสมควร ทำให้มีความคล่องตัวในการเข้าร่วมกิจกรรมในสังคมได้อย่างมีความสุข
- ความเครียดในชีวิตประจำวัน ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้มีผลต่อสุขภาพจิต และทำให้เกิดความเสื่อมได้มากและรวดเร็ว
- ความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อนและสิ่งแวดล้อมที่ดีจะทำให้มีความสุข อายุยืนขึ้น
- สิ่งเสพติดทั้งหลาย เช่น บุหรี่ เหล้า ยาอันตรายต่างๆ จะทำให้เกิดความเสื่อมได้มากและรวดเร็วกว่าผู้อื่น
         การปฏิบัติตัวเริ่มเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม ย่อยง่ายและมีคุณค่าครบถ้วนทั้ง 5 หมู่และมีใยอาหาร
- ออกกำลังกายทุกวัน เช่น เดิน รำมวยจีน
- อยู่ในสถานที่มีอากาศบริสุทธิ์ ถ่ายเทสะดวก
- อารมณ์ดี สดชื่น แจ่มใส
- ถ่ายอุจจาระทุกวัน
- ตรวจสุขภาพร่างกายอย่างน้อยปีละครั้ง

         สุขภาพที่ดีต้องอาศัยปัจจัย 5
อาหารพอดี รู้จักการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม
อากาศบริสุทธิ์ อยู่ในที่มีอากาศปราศจากมลภาวะต่างๆ
อารมณ์สดชื่นผ่องใส มีกิจกรรมที่ทำให้อารมณ์ไม่เครียด
อุจจาระ ระบบการขับถ่ายอุจจาระ เป็นปกติทุกวัน
ออกกำลังกายเป็นประจำ พยายามออกกำลังกายทุกวัน
     รวมทั้งที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อมปราศจากมลพิษ เมื่อได้ปัจจัยดังกล่าว สุขภาพร่างกายจะแข็งแรง เป็นภูมิป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ เหมาะสมทุกเพศ ทุกวัยเหมือนกันหมด
         อาหารสามารถป้องกันโรคได้
-สารคาร์โบไฮเดรต ไขมัน ทำให้เกิดพลังงานแก่ร่างกาย กรดอะมิโน หรือโปรตีน ช่วยซ่อมแซมเสริมสร้างเซลล์ร่างกายที่สึกหรอ
-สารไขมัน ยังเป็นตัวพาไวตามินเอ และไวตามินอีจากอาหารเข้าสู่ร่างกาย
-ไวตามินบี ทำให้เกิดปฏิกริยาเมตาบอลิซึมเพื่อทำให้เกิดพลังงานและสารพิษในร่างกาย บำรุงเซลล์สมอง ประสาทและกล้ามเนื้อ
-ไวตามินดี ทำให้เกิดการดูดซึมธาตุแคลเซียมได้มากขึ้น มีฟันและกระดูกที่แข็งแรง
-เกลือแร่ทุกชนิด มีความจำเป็นต่อการทำงานของเซลล์ขาดไม่ได้
-สารอาหารที่ป้องกันโรคได้ ส่วนมากเป็นไวตามินและเกลือแร่ ซึ่งพบมากในผักและผลไม้ ไวตามินและเกลือแร่ที่ละลายน้ำได้ง่ายจะถูกขับทิ้งทางเหงื่อ น้ำดี และน้ำปัสสวะเสมอ เราจำเป็นต้องกินชดเชยเป็นประจำ เช่นเดียวกับสารอาหารอื่นๆ

         อาการสำคัญที่ผู้สูงวัยควรบอกผู้ใกล้ชิดและปรึกษาแพทย์
-ผอมลงมาก ผิดปกติ
-หน้ามืดเป็นลม เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก
-เจ็บแน่นหน้าอก
-ปัสสาวะบ่อย ปวดเบ่ง
-เลือดออกทางช่องคลอด
-เป็นแผลเรื้อรังในปาก หรือมีก้อนในที่ใดที่หนึ่ง
-แขนขาไม่มีแรง ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง
-พูดไม่ชัด เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
-หลงลืมมากผิดปกติ หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงไปมาก


จากหนังสือ คู่มือ การดูแลสุขภาพ รวบรวมโดย นพ.เมธี พงษ์กิตติหล้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น